เศรษฐกิจ » พช.รุกจัดตั้ง โอทอปเทรดเดอร์ นำร่อง 10 แห่ง หวังช่วยกระจายสินค้าอย่างเป็นระบบ ตั้งเป้าปี 60 กระจายทั่วประเทศ

พช.รุกจัดตั้ง โอทอปเทรดเดอร์ นำร่อง 10 แห่ง หวังช่วยกระจายสินค้าอย่างเป็นระบบ ตั้งเป้าปี 60 กระจายทั่วประเทศ

8 สิงหาคม 2017
1210   0

นายณรงค์ บุ่ยศิริรักษ์ รองอธิบดี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  เปิดเผยว่า ตลอด 16 ปีที่ผ่านมาปัญหาหลักของสินค้าโอทอป คือ ช่องทางการตลาด โดยอดีตการขายสินค้าเป็นไปในลักษณะการจัดงานเป็นช่วง ขาย 10 วัน 20 วัน แล้วก็หยุด กรมการพัฒนาชุมชน จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างตัวเชื่อมขึ้นมา เรียกว่า “โอทอป เทรดเดอร์ (OTOP TRADER)” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นคนกลาง รวบรวมสินค้า มองตลาด บริหารจัดการ แล้วขายสินค้าให้กับ ผู้ผลิตสินค้าโอทอปอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตที่ไม่ถนัดเรื่องการตลาด สามารถเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น และยังสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าได้ดีขึ้นอีกด้วย โอทอปเทดเดอร์ จึงเป็นผู้ที่เก่งทั้ง  3 ด้าน คือ  เป็นหลงจู๊  เป็นBuyer และ เป็น Distributor เรียกว่าโอทอปเทรดเดอร์ เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระบบการขายทั่วประเทศนำสินค้าจากพี่น้องประชาชนเข้าไปขายในโมเดิร์นเทรด หรือห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ

โอทอปเทรดเดอร์ จะถูกคัดเลือกมาจากผู้ผลิตสินค้าโอทอป หรือผู้ประกอบการศูนย์ขายสินค้าโอทอป หรือของฝากที่มีประสบการณ์สูง มีความกระตือรือร้น มองตลาดเก่ง วิเคราะห์เชิงธุรกิจเป็น มีความรู้ด้านการบริหารจัดการ  โดยดำเนินการในรูปแบบ บริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ แต่ละจังหวัดจะใช้โลโก้และชื่อเดียวกันหมด เปลี่ยนเฉพาะชื่อด้านหน้าเท่านั้น   เช่น บริษัท อยุธยา โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด  ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบริษัทกลางดูแลเรื่องการตลาดให้กับสินค้าโอทอปของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและประสานกับบริษัทแม่ในการรวบรวมสินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งเชื่อมโยงระบบการขายเข้าด้วยกัน

นายณรงค์ บุ่ยศิริรักษ์ รองอธิบดี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย   กล่าวด้วยว่า โอทอปเทรดเดอร์มีแนวทางในการทำธุรกิจ แบบ Social Enterprise หรือ SE มีจัดตั้งในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม โดยผลกำไร 100% ต้องแบ่งให้ผู้ถือหุ้น 30% คืนสังคม 30% เช่น ทุนการศึกษา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การอบบรมสัมมนา สาธารณะสงเคราะห์ พัฒนาบริษัท 30%  และเป็นทุนสำรอง 10%  สำหรับโอทอปเทรดเดอร์ที่เข้มแข็งนำร่อง มีทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ สระบุรี กาญจนบุรี พัทลุง สุราษฎร์ธานี ร้อยเอ็ด ชุมพร ตาก เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และกาฬสินธุ์ โดยโอทอปเทรดเดอร์แต่ละแห่ง จะมีการรวบรวม ผลิตภัณฑ์โอทอปของจังหวัดตนเองทั้งหมด ช่วยปรับปรุงคุณภาพสินค้าและแพคเกจให้ได้มาตรฐาน และทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากับเทรดเดอร์ในจังหวัดต่างๆ ที่ทยอยจัดตั้งขึ้นมาทั่วประเทศ  ทำให้ผู้ผลิตมีช่องทางการ จำหน่ายอย่างน้อย 77 สาขาในแต่ละจังหวัด และเกิดเป็นร้านของตัวเองกระจายไปในชุมชน หมู่บ้าน อำเภอ และร้านโชห่วย เพราะโอทอปเป็นสินค้าในชีวิตประจำวันมีทั้งของกิน ของใช้ ของฝากมากกว่า 10,000 รายการ  โดยในปี 2560 กรมการพัฒนาชุมชนมีแผนจะสร้างโอทอปเทรดเดอร์หรือผู้ประกอบการมืออาชีพ ให้กระจายไปทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวเชื่อมนำสินค้าจากพี่น้องประชาชนเข้าไปโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ  ทำเป็นแฟรนไชส์ หรือเอาไปขายในอาเซียนหรือในประเทศจีน

ทางพช.เชื่อมั่นว่า แนวทางดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ รวมทั้งช่วยยกระดับสินค้าโอทอปให้เป็นสากล และยังช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” รองอธิบดี กรมการพัฒนาชุมชนกล่าวในตอนท้าย