เศรษฐกิจ » การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตามแนวสหประชาชาติ ในวิถีของ “ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์”

การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตามแนวสหประชาชาติ ในวิถีของ “ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์”

30 มีนาคม 2017
1679   0

การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยองค์กรสหประชาชาติ  เพื่อนำมาใช้เป็นวาระแห่งการพัฒนาของโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงประเทศไทยทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่พร้อมเดินหน้านำแนวคิดดังกล่าวมาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับองค์กร เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ประการ

นางสุนันทา สมบุญธรรม ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ กล่าวว่า สำหรับการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ (Sustainable Development Goals – SDGs) ที่ต่อยอดมาจากการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) นับเป็นแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นวาระสำคัญระดับโลก รวมถึงประเทศไทย นับจากนี้ต่อไปอีก15 ปี ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันกำหนดเป้าหมายพร้อมปฏิบัติตาม เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขจัดความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิต และอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซึ่งกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าถือเป็นธุรกิจที่มีการใช้พลังงานสูงสุดเนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ซึ่งผู้ประกอบการต่างเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และพร้อมนำแนวทางดังกล่าวมาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับองค์กรของตน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง

เช่นเดียวกับ ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ ที่มีการออกแบบ พัฒนา และบริหารศูนย์การค้าด้วยแนวทางเพื่อความยั่งยืนมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะในด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับชุมชน โดยได้วางรากฐานองค์กรให้เป็นศูนย์การค้ารักษ์โลก หรือ ECO Shopping Mall เพื่อเป็นส่วนหนึ่งสำหรับช่วยเหลือประเทศชาติ ในการอนุรักษ์พลังงานและเป็นต้นแบบองค์กรสีเขียวที่ทุกคนในชุมชนสามารถเข้าถึงได้ สอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยังยืน (SDGs)ในด้านพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้(Affordable and Clean Energy)

โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ อาคารสีเขียว  (Green Building) ถือเป็นกระบวนการคิดตั้งแต่การวางผังอาคารบนพื้นที่กว่า 70,000 ตร.ม.  ซึ่งออกแบบให้มีการวางอาคารแบบกระจายตัว เว้นช่องว่างของอาคารแต่ละหลัง พร้อมทั้งการกำหนดตำแหน่งการวางอาคาร เพื่อเปิดช่องรับลมธรรมชาติ ทำให้มีกระแสลมไหลผ่านตัวอาคารและพื้นที่เปิดของศูนย์การค้า (Open-Air) ได้ตลอดทั้งปี  อีกทั้งบริเวณส่วนกลางของอาคารได้สร้างเป็นโถงแบบโปร่งสำหรับเปิดรับแสงจากธรรมชาติช่วยเพิ่มความสว่างให้แก่ตัวอาคารต่างๆ ในเวลากลางวัน

ยุทธศาสตร์ด้านต่อมาคือ นวัตกรรม (Innovation) การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการก่อสร้าง โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างอย่างเช่น กระจก Low ที่เคลือบผิวหน้าด้วยโลหะเงินบริสุทธิ์ ลดปริมาณการแผ่รังสีความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร มาติดตั้งเป็นกระจกตัวอาคาร พร้อมทั้งนำหลังคาผ้าใบยักษ์ทรงแหลมมาติดตั้งบริเวณลานกิจกรรมกลางขนาด 900 ตร.ม. เพื่อลดการรับแสงแดดและการสะท้อนของแสงช่วงกลางวัน และภายในตัวอาคารทั้งหมดจะถูกควบคุมและตรวจสอบด้วยนวัตกรรมการจัดการพลังงานที่เรียกว่า Energy Management Control System ที่จะคอยคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงเวลาของวัน เพื่อลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมในการจัดการของเสียและบำบัดน้ำเพื่อการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี  (Nano Technology) มาใช้ในโถปัสสาวะชายเพื่อลดการใช้น้ำแบบ 100% แต่ยังคงความสะอาดตามหลักสุขอนามัยและขจัดกลิ่นได้อย่างสมบูรณ์ ควบคู่ไปกับนวัตกรรมการบำบัดน้ำเสียและบ่อกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้ในการดูแลสวนและงานภายนอกทั่วไป พร้อมด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยติดตั้งแผงโซล่าเซลส์เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แสงสว่างยามค่ำคืนหลังปิดให้บริการ รวมไปถึงการนำระบบGreen Future มาควบคุมการทำงานของลิฟท์และบันไดเลื่อนโดยสาร ให้สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อการทำงานได้ในตัวเองสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 70%

ยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ สังคมและชุมชน (Community) ซึ่งศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ ถือเป็นปอดขนาดใหญ่ของชุมชนเขตศรีนครินทร์ เพราะด้วยพื้นที่กว่า 50% ของศูนย์การค้า ถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว ด้วยการปลูกต้นไม้ การจัดสวนทั้งในแบบแนวราบและสวนแนวตั้งติดกับตัวอาคารเพื่อสร้างความร่มรื่นให้กับชุมชน พร้อมทั้งเปิดเป็นพื้นที่ส่วนกลางเพื่อให้ชุมชนและประชาชนในละแวกใกล้เคียงได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย บนลู่วิ่งมาตรฐานลอยฟ้าความยาวกว่า 400 เมตร พร้อมทั้งการสร้างเลนจักรยานรอบถนนภายในบริเวณศูนย์การค้า ให้เป็นเส้นทางการปั่นจักรยาน พร้อมจุดจอดจักรยานเพื่อส่งเสริมการลดใช้ยานพาหนะ

นางสุนันทา กล่าวต่อว่า แนวคิด SDGs ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่ทุกหน่วยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตนเองได้ ถึงแม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่หากหลายภาคส่วนร่วมมือกันกำหนดเป้าหมายพร้อมทั้งดำเนินการตามเป้าหมายได้สำเร็จ การพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ประกอบกับแนวคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่การเลือกใช้สินค้าและบริการไม่ได้พิจารณาแค่คุณสมบัติของสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการเพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาไปถึงนโยบายขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านต่างๆ ทั้งการอนุรักษ์พลังงาน สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงชุมชน เพราะการเลือกสินค้าหรือบริการ เปรียบเสมือนการได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสิ่งดีๆ ที่องค์การนั้นได้ปฏิบัติด้วย

จากแนวทางการปฏิบัติงานตาม 3 ยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ ทำให้ล่าสุด ศูนย์การค้า ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์ ได้รับรางวัลอันดับหนึ่งประเภทอาคารประหยัดพลังงานในการประกวด Thailand Energy Awards 2016 และ Asean Energy Awards 2016 จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาแก้ไขปัญหาเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังขององค์กร