ข่าวประชาสัมพันธ์ » “มูลนิธิสัมมาชีพ” มอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2560 คัดเลือกผู้นำธุรกิจ วิสาหกิจชุมชน-เอสเอ็มอี-บุคคลต้นแบบ

“มูลนิธิสัมมาชีพ” มอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2560 คัดเลือกผู้นำธุรกิจ วิสาหกิจชุมชน-เอสเอ็มอี-บุคคลต้นแบบ

25 สิงหาคม 2017
770   0

“มูลนิธิสัมมาชีพ” จัดงานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประกาศเกียรติคุณและยกย่องเชิดชูบุคคลสัมมาชีพ ครั้งที่ 5  ประจำปี 2560  คัดเลือกบุคคลและธุรกิจต้นแบบที่โดดเด่น และได้รับการยอมรับจากสังคม 3 ประเภท คือ วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ  – เอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ – บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ  โดยในปีนี้ คุณตง ธีระนุสรณ์กิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นตัวอย่างของการก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จด้วยการยึดหลักสัมมาชีพ ได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบ

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการการจัดงาน กล่าวว่า การจัดงานมอบรางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศเกียรติคุณและ ยกย่องเชิดชูบุคคลและธุรกิจต้นแบบที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากสังคมในการประกอบอาชีพโดยสุจริตและดำเนินธุรกิจตามหลักสัมมาชีพโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคและสังคมบนแนวทางสัมมาชีพอย่างยั่งยืน โดยงานในวันนี้ได้รับเกียรติจาก       

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้มอบรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2560 นอกจากนี้ ยังมีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ต้นแบบสัมมาชีพ สร้างให้เต็ม เติมรากฐานให้แข็งแกร่ง” โดยศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ รางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ” ในปี 2560 แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย

1) รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ มีหลักเกณฑ์และการคัดเลือกคือต้องมีการจัดตั้งหรือรวมกลุ่มเป็นองค์กร การดำเนินธุรกิจมีกำไร มีการใช้นวัตกรรมและสามารถสร้างผลลัพธ์ต่อสมาชิกและชุมชนโดยรวม ซึ่งวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัล ประกอบด้วย

– วิสาหกิจชุมชน นาต้นจั่น : ชุมชนที่สร้างรายได้จากงานทอผ้า หัตถกรรม และกิจกรรมท่องเที่ยว ที่  สามารถกระจายรายได้ไปยังครัวเรือนในชุมชนมากถึง 70% ของชาวบ้านบ้านนาต้นจั่น

– วิสาหกิจชุมชน อุ่มแสง : ความสามารถที่ชาวนารวมกันทำข้าวอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน โดยในปี 2558 วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง สามารถสร้างรายได้จากการขายข้าวอินทรีย์ได้ถึง 55 ล้านบาท

-วิสาหกิจชุมชน ดอนคา : ดูแลสมาชิกในกลุ่มออมทรัพย์มากถึง 14,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในปี 2559 มียอดเงินออมสูงถึง 161 ล้านบาท ผลประกอบการในปี 2558 มีกำไร 9.5 ล้านบาท ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การนำเอาเงินกำไรสะสมไปลงทุนเพื่อประกอบการในชุมชนต่อ เช่น โรงแป้งขนมจีน โรงรมยางพาราและอบแห้ง และโรงปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการนำเอากลุ่มออมทรัพย์ไปสร้างการผลิต เป็นตัวอย่างของการประกอบชุมชนที่ริเริ่มดำเนินงานโดยชุมชน

2) รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ มีหลักเกณฑ์และการคัดเลือกโดยมุ่งเน้นไปยังการทำบัญชีเล่มเดียว การสร้าง Value chains เชื่อมโยงควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกับชุมชน การเป็นข้อต่อระหว่างธุรกิจกับชุมชน โดยผู้ที่ได้รับรางวัล ประกอบด้วย

-บริษัท กาแฟวาวี จำกัด : ร้านกาแฟที่จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมชาวไร่กาแฟเพื่อส่งเสริมและพัฒนาปลูกกาแฟโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของชาวไร่กาแฟบนพื้นที่สูงดอยวาวี-ดอยช้าง จังหวัดเชียงราย                                                                               –

-ห้างหุ้นส่วนจำกัด เรือนไหมใบหม่อน : ธุรกิจเถ้าแก่ที่ต่อยอดมาจากร้านขายฟืม – อุปกรณ์ทอผ้าไหม ที่ จังหวัดสุรินทร์ เป็นร้านที่เป็นศูนย์กลางอุปกรณ์ของอีสานใต้ ในขณะเดียวกันมีการร่วมรณรงค์ฟื้นฟูการเลี้ยงหม่อนไหม  ตั้งโรงสาวไหม ย้อมไหม และโรงงานย่อยๆ ในชุมชนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมครัวเรือนเกี่ยวกับหม่อนไหมและอุปกรณ์ให้เติบโตไปด้วยกัน                                                                                                                      —

-บริษัท ทีเจ เฮ้าส์ จำกัด : ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดมหาสารคาม ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแป้งฝุ่นแต่งหน้าจากผงไหมซึ่งไม่มีสารก่อมะเร็ง ซึ่งเป็นการนำเอาผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นพัฒนาต่อยอด สร้างเป็นธุรกิจและสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตจากการเลี้ยงหม่อนไหมของชุมชน

-บริษัท กรีนโกรทออร์แกนิค จำกัด :  เป็นธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจลาออกจากราชการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำความรู้ระดับปริญญาโทสิ่งแวดล้อมจาก ม.เกษตรศาสตร์ กลับไปทำธุรกิจอินทรีย์ที่บ้านเกิดในจังหวัดอุทัยธานี และชวนชุมชนที่ยังทำเกษตรอินทรีย์ธรรมชาติรวมเป็นกลุ่มการผลิตวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และบางรายการก็นำส่งตลาดโมเดิร์นเทรดในเมือง

3) รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพแห่งปี มีหลักเกณฑ์และการคัดเลือกโดยมุ่งเน้นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า บุคคลที่ไดรับรางวัลนั้น ยึดมั่นในแนวทางสัมมาชีพติดต่อกันมาในระยะเวลาที่ยาวนานโดยผู้ที่ได้รับรางวัลได้แก่ คุณตง ธีระนุสรณ์กิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากนม อาทิ คุกกี้-แยม อิมพีเรียล เนยอลาวรี น้ำส้มซันควิก เป็นตัวอย่างที่ดีของการครองตนที่สะท้อนชีวิตแบบเรียบง่าย เอาใจใส่ผู้ร่วมงาน สังคมรอบข้าง และพัฒนากิจการร่วมไปกับพันธมิตร ทั้งส่วนที่เป็นชุมชนภาคเกษตรชนบท ธุรกิจการค้า ในเมือง และเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ โดยยึดหลัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ตลอดเวลา

“มูลนิธิสัมมาชีพจัดให้มีรางวัลบุคคลสัมมาชีพแห่งปีตั้งแต่ปี 2552 และในปี 2559 จึงได้ขยายให้มีรางวัลเพิ่มขึ้นอีก 2 รางวัล คือ รางวัล SMEs-สัมมาชีพ และวิสาหกิจชุมชน-สัมมาชีพ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อสร้างสัมมาชีพให้เต็มพื้นที่ดังปรัชญาของมูลนิธิ “สร้างให้เต็ม เติมรากฐานให้แข็งแกร่ง” สำหรับบุคคลสัมมาชีพแห่งปีเปรียบเสมือนต้นแบบที่สัมผัสได้และมีตัวตน อีกทั้งยังเป็นผู้จุดประกายสร้างพลังและแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคมทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขา อาชีพ ในการตั้งมั่นและยึดถือการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมตามหลักสัมมาชีพ ด้วยการรับฟังและการเรียนรู้ผ่านการปาฐกถาพิเศษการถ่ายทอดแนวคิดและหลักการดำเนินชีวิตที่ดีงามของบุคคลสัมมาชีพ ด้วยอาวุธสำคัญ คือ ประสบการณ์และคมปัญญาที่จะส่งผลให้กับผู้คนในสังคมมีพลังขับเคลื่อนความฝันของตนเองสู่ผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ดีต่อไป โดยที่ผ่านมามีบุคคลชั้นนำในสังคมไทยได้รับเกียรติเป็นบุคคลสัมมาชีพแล้ว 4 ท่าน ได้แก่ บุคคลสัมมาชีพ ประจำปี 2552 นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหารเครือสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บุคคลสัมมาชีพ ประจำปี 2553 นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มน้ำตาลมิตรผล จำกัด บุคคลสัมมาชีพ ประจำปี 2554 นายไกรสร จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบุคคลสัมมาชีพ ประจำปี 2555 นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา”นายประเสริฐ กล่าว

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า การจัดงานมอบรางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ” มีจุดเริ่มต้นมาจากปรัชญาการดำเนินงานของมูลนิธิสัมมาชีพที่มีความเชื่อมั่นว่า สังคมไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดผู้นำสัมมาชีพในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำภาคธุรกิจซึ่งเป็นผู้นำที่มีหลักคิด ทัศนคติ และมีทักษะในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสัมมาชีพเต็มพื้นที่ อันจะช่วยนำประเทศไทยไปสู่สังคมอุดมสุขที่เป็นจริงได้ สำหรับเรื่องสัมมาชีพนั้นถือเป็นแนวคิดที่สำคัญที่สุด บ้านเมืองหรือประเทศจะร่มเย็นเป็นสุขได้ก็ต่อเมื่อมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ซึ่งสัมมาชีพก็คือ อาชีพที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ฉะนั้นเวลาเกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ จึงเกิดความร่มเย็นเป็นสุข เศรษฐกิจก็ดี จิตใจก็ดี สังคมก็ดี สิ่งแวดล้อมก็ดี ดังนั้นเพื่อให้สัมมาชีพเต็มพื้นที่เกิดขึ้นได้จริงอย่างที่คนคิดดีทำดีหวังไว้ การมอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง “บุคคลสัมมาชีพ” แห่งปี จึงดำเนินต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 5 ในปีนี้ โดยมีเป้าหมายให้ความคิดและการกระทำของบุคคลสัมมาชีพ กลายแบบอย่างอันดีอันควรที่ปฏิบัติได้จริงแก่สังคม